หลักการและเหตุผล/เหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งบัณฑิตศึกษา
สถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามความในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562 สถาบันมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม กำหนดนโยบายที่จะพัฒนาความเป็นเลิศ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ผลิตบัณฑิตรองรับระบบสุขภาพของประเทศ และยกระดับสถาบันพระบรมราชชนกให้เป็นมหาวิทยาลัยของไทยที่มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ เพื่อก้าวสู่ World Class University for Primary Care ซึ่งการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรมของสถาบัน เพราะเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่
ในปัจจุบันสถาบันพระบรมราชชนก มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 9 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จำนวน 6 หลักสูตร หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ จำวน 1 หลักสูตร หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน จำนวน 1 หลักสูตร และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย จำนวน
1 หลักสูตร และอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกต่อไป ในปีการศึกษา 2568 คาดว่าจะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทเพิ่มขึ้น 5 หลักสูตร หลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ หลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขอเปิดหลักสูตร และคาดว่าจะเริ่มพัฒนาหลักสูตร ในปีการศึกษา 2569 จำนวน 3 หลักสูตร เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางศาสตร์ด้านวิทยาศาสตรสุขภาพ ที่ต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2565 กำหนดไว้ว่า หลักสูตรระดับปริญญาโท มุ่งให้มีความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการสร้างและประยุกต์ใช้ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนางานและสังคม ในขณะที่ปริญญาเอก มุ่งให้มี
ความสามารถในการค้นคว้าวิจัยเพื่อสรรสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางาน สังคม ประเทศ และประชาคมโลก ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของหลักสูตรแตกต่างจากการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ในปัจจุบันการบริหารจัดการงานบัณฑิตศึกษา ตามโครงสร้างของสถาบันพระบรมราชชนก อยู่ภายใต้การบริหารงานของกองส่งเสริมวิชาการและคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีบทบาทหลักในการสนับสนุนการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรี มีผลให้ขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นควรจัดตั้งสำนักงานบัณฑิตศึกษาให้เป็นหน่วยงานภายในของสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหลักสูตร การเรียนการสอน การออกระเบียบ ข้อบังคับ แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานบัณฑิตศึกษาที่ครอบคลุมระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก และระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงหลังระดับปริญญาเอก ให้สามารถพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการและการวิจัยของสถาบัน จึงจำเป็นต้องจัดระบบการบริหารงาน ให้คล่องตัว รวดเร็ว มีความเป็นเอกภาพในการให้บริการนักศึกษา และการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชา
สงวนลิขสิทธิ์ © สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข